*เปิดเผยเนื้อหาบางส่วน
Rudolf Steiner — ผู้ก่อตั้งแนวคิดว่าด้วยมนุษยปรัชญา (anthroposophy) อันเป็นรากฐานสำคัญของการศึกษาแบบวอลดอร์ฟ (Waldorf education) — แบ่งการเจริญเติบโตของมนุษย์ในช่วง 21 ปีแรกของชีวิตออกเป็น 3 ช่วง ช่วงละ 7 ปี 7 ปีแรกเป็นการพัฒนาทางด้านร่างกาย 7 ปีที่สองเป็นการพัฒนาทางด้านอารมณ์ ความรู้สึก และจินตนาการ 7 ปีที่สามเป็นการพัฒนาทางด้านสติปัญญาและการรู้คิด
อนิเมชันเรื่องล่าสุดของ Pixar เรื่องนี้ ขับเน้นประเด็นหลักที่ว่าด้วยการเติบโตด้านสภาวะทางอารมณ์ในช่วงเปลี่ยนผ่านจากวัยเด็ก เข้าสู่วัยรุ่นตอนต้น ซึ่งเป็นช่วง 7 ปี ช่วงที่ 2 ของชีวิต
ไรลีย์ เด็กหญิงอายุ 11 ปี เกิดและเติบโตที่มินเนโซต้า เธอมีชีวิตที่ดี ได้อยู่กับพ่อกับแม่ มีครอบครัวที่อบอุ่น มีพรสวรรค์ด้านกีฬาฮอกกีน้ำแข็ง เธอมีนิสัยซื่อสัตย์และจริงใจ อีกทั้งยังมีเพื่อนสนิทที่เชื่อใจกันได้ตั้งแต่ยังเล็ก
ด้วยพื้นเพของเธอที่ยังไม่ได้พบเจอความสูญเสียมากมายนัก และด้วยอิทธิพลของพ่อแม่ที่ส่งเสริมให้ลูกต้องยิ้มอยู่เสมอ ทำให้ Joy แทบจะเป็นผู้คุมศูนย์บัญชาการใหญ่อยู่คนเดียว Joy เองก็มองเห็นประโยชน์ของอารมณ์ Anger ในยามที่ต้องการความยุติธรรม, Fear สำหรับการหลีกเลี่ยงภยันตรายต่างๆ, และ Disgust เมื่อต้องการทำตัวกลมกลืนกับผู้อื่น แต่กลับเมินคุณค่าของ Sadness ทำให้ความโศกเศร้าแทบไม่มีที่ยืนในชีวิตของไรลีย์ เมื่อใดก็ตามที่ไรลีย์กำลังมีอารมณ์เบี่ยงเบนไปจากความสุข Joy จะใช้ไม้ตายโดยการนำความทรงจำเก่าๆ กลับมาฉายซ้ำ ชีวิตคนเราก็เช่นกัน เมื่อต้องการหลีกหนีความทุกข์โศกในปัจจุบัน เราจะหันไปพึ่งอดึตอันหอมหวลเสมอ
ไรลีย์ในตอนต้นเรื่อง จึงมีบุคลิกที่คิดบวก ร่าเริง ยิ้มเก่ง และพยายามอย่างยิ่งที่จะมีความสุขกับทุกเรื่องที่ผ่านเข้ามาในชีวิต
แต่เหมือนฟ้าผ่าลงมากลางชีวิตเล็กๆ ของไรลีย์ เมื่อธุรกิจของพ่อเริ่มประสบปัญหา ทำให้เธอต้องย้ายบ้านตามพ่อแม่มายังซานฟรานซิสโก จากบ้านหลังโตมาสู่อพาร์ทเมนท์ห้องเล็กๆ ที่คับแคบ รถที่ขนสัมภาระจากบ้านเก่ามาก็ยังมาไม่ถึงสักที ต้องจากลาเพื่อนเก่า ทีมฮอกกีเก่า แถมยังต้องปรับตัวให้เข้ากับสังคมที่โรงเรียนใหม่ให้ได้ และที่สำคัญ พ่อกับแม่ก็ไม่มีเวลาให้เธอเหมือนเดิม
ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยสำหรับไรลีย์ และสถานการณ์ภายในหัวของเธอยิ่งเลวร้ายกันเข้าไปใหญ่ เมื่อ Joy และ Sadness หลงทางอยู่ในสมองส่วนอื่นๆ พร้อมๆ กับความทรงจำหลัก ซึ่งเชื่อมต่อกับบุคลิกภาพเดิมของไรลีย์
ฉากการผจญภัยของ Joy และ Sadness ในช่วงกลางๆ เรื่อง คือความล้ำของ Pixar ที่สามารถ Visualised และ Animate การทำงานของสมองออกมาให้เป็นภาพเคลื่อนไหวที่ดูสนุกสนาน แม้ว่าจะไม่ถูกต้องและสมบูรณ์แบบนักในแง่ของแนวคิดและทฤษฎีว่าด้วยความทรงจำ จิตใจ อารมณ์ พฤติกรรม และปฏิสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยเหล่านี้ที่ส่งผลต่อพฤติกรรมและการตอบสนองต่อโลกภายนอกก็ตาม
ถัดจากเขตแดนของห้องควบคุมหลักที่เป็นตัวสั่งการให้ไรลีย์แสดงพฤติกรรมต่างๆ ซึ่งก็คือจิตสำนึกรู้ (consciousness) ของไรลีย์เอง พอข้ามหุบเหวแห่งความหลงลืมมาก็จะพบกับเขาวงกตความทรงจำระยะยาวที่มีตัวเก็บกวาดความทรงจำที่เราไม่ค่อยให้ความสำคัญเท่าไหร่แล้วทิ้งไป ลึกเข้าไปใกล้ๆ กับห้องขังแห่งจิตใต้สำนึก (subconscious) ที่เราใช้เก็บความกลัวเอาไว้ คือ โรงผลิตฝันที่เก็บเอาอารมณ์ความรู้สึกและเหตุการณ์ “แรงๆ” ที่เราเจอในแต่ละวันมาสร้างเป็นภาพฝันที่บิดเบือนไปจากความเป็นจริง กระบวนการสี่ขั้นตอนแห่งการคิดเชิงนามธรรมที่กำลังจะเติบโตขึ้นในช่วงวัยนี้ โลกแห่งจินตนาการในวัยเยาว์ที่กำลังถูกทำลายทิ้งลงไปเรื่อยๆ เมื่อถึงคราวที่ต้องเป็นผู้ใหญ่ เพลงติดหู (earworm) ที่เรามักจะฮัมโดยอัตโนมัติ ทั้งหมดคือกระบวนการทำงานของจิตใจและสมองที่ Pixar สร้างขึ้น ทำเอาคนที่ได้เรียนจิตวิทยาหรือประสาทวิทยาศาสตร์มา กรี๊ดสลบด้วยความทึ่งได้เลยทีเดียว
อ้อ ยังมีตัวละครอีกตัวที่ Pixar ให้ความสำคัญมากในเรื่องนี้คือ เพื่อนในจินตนาการ (imaginary friend) ที่ชื่อ Bing Bong
เด็กๆ จะสร้างเพื่อนในจินตนาการขึ้นมาเพื่อเป็นเพื่อนเล่นคลายเหงา เพื่อเป็นเพื่อนคุยยามเกิดความเครียด หรือประสบกับเรื่องที่กระทบกระเทือนจิตใจ เพื่อฝึกสร้างความสัมพันธ์กับผู้คนในโลกแห่งความเป็นจริง หรือเพื่อหาเหตุผลอธิบายและรองรับปรากฏการณ์ที่ยังมิอาจเข้าใจได้ในตอนนี้
หนึ่งในหมุดหมายสำคัญในการเติบโต เมื่อเราโตพอที่จะเข้าใจโลกใบนี้ได้แล้ว ก็ถึงคราวอำลาเพื่อนในจินตนาการของเราไป
การที่ Bing Bong และรถคู่ใจมลายหายไป จึงเป็นความสูญเสียซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการเติบโตและการก้าวพ้นวัยสู่ช่วงถัดไปของชีวิตไรลีย์
เมื่อในหัวของไรลีย์เหลือเพียง Fear, Anger, และ Disgust อารมณ์ที่ไม่สมดุล จึงนำไปสู่พฤติกรรมที่มุทะลุ ฉุนเฉียวง่าย ไม่คิดหน้าคิดหลัง ตามแบบฉบับของวัยรุ่นตอนต้น แม้เธอจะมีความกลัวอยู่ แต่ชีวิตที่ต้องเผชิญกับโลกภายนอกอันโหดร้าย ผลักดันให้ Anger เดินเครื่องเต็มที่ จนอาจจะนำไปสู่ความมืดมนของชีวิตจนกู่ไม่กลับ
ระหว่างที่ผจญภัยไปด้วยกัน Joy เองก็ได้พบว่า เรื่องบางเรื่อง ความสุขเพียงอย่างเดียวไม่สามารถแก้ไขปัญหาบางเรื่องได้ Joy ได้เรียนรู้จาก Sadness ว่า ความเศร้าเองก็มีหน้าที่ของมัน นั่นก็คือความสามารถในการจัดการกับความสูญเสียที่เกิดขึ้น และช่วยสงบสติอารมณ์ให้กลับมาอยู่ในภาวะปกติ Sadness ทำให้ Bing Bong ร้องไห้ระบายความโศกเศร้าออกมา และเมื่อร้องไห้ออกมาแล้ว Bing Bong ก็พร้อมที่จะเดินทางต่อ
Joy เริ่มตระหนักว่า ไรลีย์สูญเสียบ้านเก่าและเพื่อนสนิท อีกทั้งเธอกำลังจะสูญเสีย “วัยเด็ก” ที่เธอเคยใช้เป็นเครื่องมือในการจัดการกับเรื่องราวต่างๆ ที่ผ่านเข้ามาในชีวิต
นอกจากนี้ Joy ยังค้นพบว่า ความทรงจำที่มีความสุข อีกด้านหนึ่งก็มีความโศกเศร้าแฝงอยู่ด้วย หนึ่งในความทรงจำหลัก ซึ่งเป็นวันที่ไรลีย์ทำพลาดจนทำให้ทีมแพ้ในนัดสำคัญ Joy พบว่าความทรงจำเปี่ยมสุขที่เธอหวงแหนนักหนาจนมิยอมให้ Sadeness แตะต้อง มีต้นกำเนิดมาจากความโศกเศร้าของไรลีย์
ในสุขมีโศก ในโศกมีสุข — ดังที่ Pixar ออกแบบให้ Joy กับ Sadness มีผมสีฟ้าเหมือนกัน
เมื่อไรลีย์ได้ความโศกเศร้ากลับคืนมา เธอจึงมีโอกาสได้ใช้มันปรับความเข้าใจกับพ่อแม่ เมื่อนั้นเอง ไรลีย์และเหล่าอารมณ์ทั้งหลายก็เติบโตขึ้นอีกขั้น ไม่จำเป็นอีกต่อไปที่ความทรงจำใดๆ จะต้องมีเพียงเฉพาะอารมณ์หนึ่งๆ กำกับเพียงอารมณ์เดียว อารมณ์ต่างๆ สามารถทำงานร่วมกันได้ ทำให้ไรลีย์มีความเข้าใจด้านอารมณ์ความรู้สึกที่ซับซ้อนยิ่งขึ้น สามารถนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการรับมือกับโลกและสถานการณ์ภายนอกได้ดียิ่งขึ้น
การล่มสลายของบุคลิกภาพเดิมที่มีเพียงอารมณ์ง่ายๆ ไม่ซับซ้อนเป็นตัวขับเคลื่อน ทำให้การก่อกำเนิดบุคลิกภาพใหม่ที่เปิดโอกาสให้ไรลีย์ได้ใช้ความรู้สึกที่ซับซ้อนมากขึ้นเกิดขึ้นได้ อนิเมชันเรื่องนี้จึงเป็นสัญลักษณ์ที่สื่อถึงการละทิ้งตัวตนในวัยเด็ก เพื่อก้าวเข้าสู่ตัวตนใหม่ สังคมใหม่ และประสบการณ์ใหม่ในช่วงวัยรุ่นนั่นเอง
อนิเมชันจาก Pixar เรื่องนี้ แม้จะเล่นประเด็นหลักๆ อยู่ที่การสูญเสียเหมือนหลายๆ เรื่องที่ผ่านๆ มา เช่น Finding Nemo — พ่อและลูกพลัดพรากจากกัน, Up — ปู่ซ่าสูญเสียคู่ชีวิต, WALL·E — มนุษย์สูญเสียโลกเดิมที่เคยอยู่ และต้องสั่งสมความกล้าที่จะละทิ้งยานอวกาศกู้ชีพของเผ่าพันธุ์ตน, Toy Story 3 — Andy ยอมสละของเล่นให้กับเด็กข้างบ้าน และเหล่าของเล่นก็ต้องละทิ้ง Andy เพื่อสร้างความสุขแก่เด็กน้อยคนต่อไป, และ Brave — พ่อและแม่ที่ต้องยอมให้ลูกสาวเติบโตในเส้นทางที่ตัวเองเลือก แต่จุดเด่นคือพาไปล้วงลึกการทำงานของสมองและจิตใจ ที่ทำได้สนุกและน่าชมเป็นอย่างยิ่ง เด็กๆ ดูก็ได้ความเพลิดเพลินแบบไม่ต้องคิดหรือตีความมาก วัยรุ่นก็จะได้รู้จักตัวเองผ่านการทำงานของอารมณ์ต่างๆ ผู้ใหญ่ที่ผ่านวัยรุ่นมาแล้วก็ได้หวนกลับไปรำลึกความหลังในโลกแห่งจินตนาการกันอีกครั้ง
และแน่นอนว่า บทสรุปช่วงท้ายเรื่อง น่าจะทำให้ใครหลายๆ คนได้พบเจอกับความรู้สึกผสมผสานระหว่าง Sadness กับ Joy ด้วยตัวเอง :)
Originally published at tenorist.wordpress.com on August 13, 2015.